การจัดจำแนกพืช


2.การจัดจำแนกพืช
                                    

       

          นักพฤกษศาสตร์ได้ประเมินว่า จำนวนพืชในโลกมีอยู่ประมาณ 500,000 ชนิด โดยแบ่งออกเป็นพืชชั้นต่ำ (พืชที่ไม่มีท่อลำเลียง non-vascular plants) ประมาณ 240,000 ชนิด และเป็นพืชชั้นสูง (พืชที่มีท่อลำเลียง vascular plants) ประมาณ 260,000 ชนิด (วีระชัย ณ นคร, 2539) อีกทั้งในแต่ละท้องที่อาจมีการเรียกชื่อสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันแตกต่างกันไปตามแต่ละภาษา หรืออาจมีชื่อเดียวกันแต่หมายถึงสิ่งมีชีวิตต่างชนิดกันก็เป็นได้ เพื่อความสะดวกในการนำสิ่งมีชีวิตมาศึกษาและใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องตามต้องการ จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีหลักเกณฑ์เพื่อป้องกันความสับสน เป็นสื่อกลาง สื่อความหมายให้เข้าใจได้ตรงกัน เมื่อกล่าวถึงสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งก็คือ วิชาอนุกรมวิธาน นั่นเอง


 การจัดจำแนกพืช        
             หมายถึง การแบ่งพืชออกเป็นหมวดหมู่ โดยการนำพืชชนิดต่างๆที่มีความคล้ายคลึงกันหรือมีลักษณะร่วมกันมาจัดรวมไว้ในกลุ่มเดียวกัน
             ระบบการจัดจำแนกพืช สรุปได้เป็น 3 ระบบใหญ่ๆดังนี้
             1. Artifical system (folk-taxonomy) เป็นระบบการจัดจำแนกอย่างง่ายๆ โดยการพิจารณาจากลักษณะภายนอกว่าคล้ายกันหรือต่างกันอย่างไร ระบบนี้ใช้ตั้งแต่เริ่มแรกที่มีการจัดจำแนกสิ่งมีชีวิต จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ตัวอย่างเช่น การจัดจำแนกพืชโดยอาศัยลักษณะนิสัย (habit)
ออกเป็น ไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม หรือไม้ล้มลุก การจัดจำแนกโดยพิจารณาถึงการใช้ประโยชน์ ออกเป็น พืชอาหาร พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือพืชมีพิษ เป็นต้น
            2. Natural system เป็นระบบการจัดจำแนกที่พิจารณาจากลักษณะที่ปรากฏร่วมกันให้มากลักษณะที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วนำมาจัดหมวดหมู่ให้สอดคล้องกันกับที่เป็นจริงในธรรมชาติ ระบบนี้เริ่มใช้ตั้งแต่ประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนถึงปัจจุบัน
            3. Phylogenetic system เป็นระบบการจัดจำแนกที่นำเอาระบบ Natural system มาใช้ร่วมกับการพิจารณาถึงความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการ ระบบนี้มีการจัดเรียงว่าพืชชนิดไหนเกิดขึ้นก่อนหรือหลัง ซึ่งทำให้มองเห็นความเกี่ยวเนื่องของพืชกลุ่มต่างๆได้ชัดเจน

หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดจำแนกพืช
1. ลักษณะทางสัณฐานวิทยา (Morphology) และกายวิภาค (Anatomy) ทั้งที่เป็น Homologous และ Analogous structure
2. แบบแผนและลักษณะการเจริญเติบโตของตัวอ่อน (Embryology)
3. สายความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการ (Evolution)
4. ลักษณะและการถ่ายทอดทางพันธุกรรม (Genetic)
5. ขบวนการทางสรีรวิทยา การสืบพันธุ์ การดำรงชีพ การกระจายพันธุ์ และพฤติกรรม
6. สารเคมีที่สร้างขึ้น

➽ ลำดับในการจัดหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิต (Taxonomic category)

            การจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตออกเป็นหมวดหมู่ มีลำดับขั้นจากกลุ่มใหญ่ลงไปหากลุ่มเล็กจนถึงระดับสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด แต่ละลำดับขั้นเรียกว่า Taxonomic rank หรือ Taxonomic unit (Taxon, Taxa (pl.)) ดังนี้
                อาณาจักร (Kingdom)
                               หมวด (Division/Phylum)
                                       ชั้น (Class)
                                           อันดับ (Order)
                                                    วงศ์ (Family)
                                                          สกุล (Genus)
                                                                  ชนิด (Species)

              ระหว่างแต่ละ Taxonomic rank อาจแบ่งให้เป็นหน่วยย่อย โดยเติม ‘sub’ ข้างหน้า หรือแบ่งให้เป็นหน่วยสูงขึ้น โดยเติม ‘super’ ข้างหน้า เช่น subclass, superorder, subfamily เป็นต้น

              ตัวอย่างการจัดจำแนกพืชถึงลำดับชนิดของ จำปี (Michelia alba DC.) จำปา (Michelia champaca L.) มณฑาดอย (Manglietia garrettii Craib) และยี่หุบ (Magnolia coco (Lour.) DC.)
              พืชทั้งสี่ชนิดนี้มีลักษณะร่วมกันจึงได้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน กล่าวคือ
- เป็นพืช จัดอยู่ในอาณาจักรพืช (Kingdom Plantae)
- เป็นพืชที่มีระบบท่อลำเลียงน้ำและอาหาร และมีดอก จัดอยู่ในหมวดพืชมีดอก (Division Magnoliophyta)
- เป็นพืชที่มีระบบท่อลำเลียงน้ำและอาหาร มีดอก และต้นอ่อนมีใบเลี้ยง 2 ใบ จัดอยู่ในชั้นพืชใบเลี้ยงคู่ (Class Magnoliopsida)
- เป็นพืชที่มีระบบท่อลำเลียงน้ำและอาหาร มีดอก ต้นอ่อนมีใบเลี้ยง 2 ใบ และมีกลีบดอกซึ่งแต่ละกลีบแยกเป็นอิสระต่อกัน จัดอยู่ในอันดับพืชกลุ่มจำปี จำปา มณฑา ยี่หุบ กระดังงา สายหยุด (Order Magnoliales)
- เป็นพืชที่มีระบบท่อลำเลียงน้ำและอาหาร มีดอก ต้นอ่อนมีใบเลี้ยง 2 ใบ มีกลีบดอกซึ่งแต่ละกลีบแยกเป็นอิสระต่อกัน และกลีบเลี้ยงไม่สามารถแยกออกได้ชัดเจนจากกลีบดอก จัดอยู่ในวงศ์จำปี จำปา มณฑา ยี่หุบ (Family Magnoliaceae)
- เป็นพืชที่มีระบบท่อลำเลียงน้ำและอาหาร มีดอก ต้นอ่อนมีใบเลี้ยง 2 ใบ มีกลีบดอกซึ่งแต่ละกลีบแยกเป็นอิสระต่อกัน กลีบเลี้ยงไม่สามารถแยกออกได้ชัดเจนจากกลีบดอก ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวที่ยอด และมีไข่อ่อนจำนวน 4 เมล็ดหรือมากกว่าในแต่ละรังไข่ จัดอยู่ในสกุลมณฑา (Genus Manglietia) ถ้าดอกออกเป็นดอกเดี่ยวที่ยอดเช่นกัน แต่มีไข่อ่อนจำนวน 2 เมล็ดในแต่ละรังไข่ จัดอยู่ในสกุลยี่หุบ (Genus Magnolia) แต่ถ้าดอกออกเป็นดอกเดี่ยวที่ซอกใบ จะจัดอยู่ในสกุลจำปี จำปา (Genus Michelia)
          ถึงแม้ว่า จำปี และ จำปา จะมีลักษณะส่วนใหญ่ร่วมกัน และถูกจัดให้อยู่ในสกุลเดียวกัน เนื่องจากมีลักษณะร่วมกันมากกว่ามณฑาดอย และยี่หุบ แต่ก็ยังคงมีความแตกต่างกันจึงไม่ได้ถูกจัดให้เป็นชนิดเดียวกัน  


1 ความคิดเห็น: