การกำหนดหรือการตั้งชื่อพืช


4. การกำหนดหรือการตั้งชื่อพืช (Plant Nomenclature)

          หมายถึง การกำหนดให้พืชชนิดนั้นๆมีชื่อเรียกว่าอะไร นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการประมวลรายชื่อพืชที่มีการตั้งไว้แล้วว่าเป็นชื่อที่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่
ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name) ถือเป็นสื่อกลาง เพื่อทำให้เข้าใจว่าสิ่งมีชีวิตที่กำลังศึกษาหรือกล่าวถึงนั้นมีลักษณะอย่างไรกันแน่ เช่น น้อยหน่า ซึ่งเป็นชื่อที่คนไทยเรียกผลไม้ชนิดหนึ่ง แต่คนชาติอื่นเรียกชื่อของผลไม้ชนิดนี้แตกต่างกันออกไป โดยที่ อินเดีย เรียก สิตผล ญี่ปุ่น เรียก ปันเรฮิชิ จีน เรียก ฟานลิซี้ (พังไหล) เขมร เรียก เตียบ ลาว เรียก หมักเขียบ ญวน เรียก กวาหนา มลายู เรียก พอนา อังกฤษ เรียก Custard apple หรือ Sugar apple แต่ถ้าเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ จะมีเพียงชื่อเดียวเท่านั้นคือ Annona squamosa L. หรือพืชซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Samanea saman (Jacq.) Merr. แต่มีชื่อเรียกในภาษาไทยหลายชื่อ เช่น จามจุรี ฉำฉา และก้ามปู เมื่อดูตัวอย่างพรรณไม้ที่เก็บมาจะทราบได้ทันทีว่าพืชเหล่านี้เป็นชนิดเดียวกัน และในกรณีของพืชที่มีชื่อในภาษาไทยว่า รัก ซึ่งอาจหมายถึงพืชหลายชนิด เช่น รัก (Gluta usitata (Wall.) Ding Hou) เป็นพืชที่ให้ยาง ใช้ในการทำเครื่องเขิน หรือ รัก (Calotropis gigantea (L.) Dryander ex W.T. Aiton) เป็นพืชที่นำดอกมาร้อยมาลัย เมื่อดูตัวอย่างพรรณไม้ที่เก็บมาจะทราบได้ว่าเป็นพืชคนละชนิดกัน


➽ หลักเกณฑ์ในการตั้งชื่อ

           ปัจจุบันนักอนุกรมวิธานทั่วโลกได้ใช้ระบบการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ตามหลักสากลที่มีการยอมรับทั่วไป โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. เพื่อแสดงลำดับและความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต
2. เพื่อให้สิ่งมีชีวิตมีชีวิตมีชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องแน่นอน
3. เพื่อกำจัดชื่อผิด สับสน คลุมเครือ หรือชื่อที่มีปัญหาให้หมดไป
4. เพื่อเป็นแนวทางในการตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตที่พบใหม่ (ประนอม จันทรโณทัย, 2537
           ระบบการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ตามหลักสากล มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. ชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชและสัตว์ ต่างเป็นอิสระไม่ขึ้นอยู่แก่กัน ดังนั้นชื่อของพืชมีโอกาสที่จะซ้ำกับชื่อของสัตว์ได้
2. ชื่อวิทยาศาสตร์ในแต่ละลำดับต้องมีชื่อที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การตั้งชื่อเพียงชื่อเดียวเท่านั้น เว้นแต่มีกรณีพิเศษ
3. ชื่อวิทยาศาสตร์ต้องเป็นภาษาลาติน หรือดัดแปลงภาษาอื่นให้เป็นภาษาลาติน
4. ชื่อวิทยาศาสตร์ทุกลำดับตั้งแต่ระดับวงศ์ (family) ขึ้นไป จะต้องมีกฎในการกำหนดคำลงท้ายชื่อ เช่นวงศ์ของพืช ลงท้ายด้วย -aceae วงศ์ของสัตว์ ลงท้ายด้วย –idae
5. การตั้งชื่อชนิดใช้ระบบทวินาม (Binomial nomenclature) ซึ่งประกอบด้วยชื่อสกุล (generic name) เป็นชื่อหน้า และชื่อที่แสดงคุณลักษณะ (specific epithet หรือ specific name) เป็นชื่อหลัง ชื่อชนิดต้องเขียนเป็นอักษรเอน หรือขีดเส้นใต้
          ตัวอย่างชื่อวิทยาศาสตร์ลำดับชนิด เช่น จำปี มีชื่อตามหลักสากล (ชื่อวิทยาศาสตร์) ว่า Michelia alba DC. ซึ่ง Michelia หมายถึง พืชในสกุล (Genus) จำปี จำปา ชื่อสกุล Michelia นี้ ตั้งให้เป็นเกียรติแก่ Pier (Pietro) Antonio Micheli (1679-1737) นักพฤกษศาสตร์ชาวอิตาเลียน ส่วน Michelia alba หมายถึง พืชที่มีชื่อในภาษาไทยว่า จำปี คำว่า alba แปลว่า สีขาว ส่วน DC. เป็นชื่อย่อของนาย Augustin Pyramus de Candolle (1778-1841) นักพฤกษศาสตร์ชาวสวิส ซึ่งเป็นคนตั้งชื่อตามหลักสากลของจำปี         นอกจากนี้ยังมีกฎ และข้อแนะนำในการตั้งชื่อ อีกหลายข้อที่ต้องยึดปฏิบัติเมื่อจะตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตที่พบใหม่ เพื่อให้การตั้งชื่อนั้นไม่สับสน ทับซ้อน หรือมีปัญหาภายหลัง เช่น ต้องมีสิ่งมีชีวิตต้นแบบในการตั้งชื่อ (nomenclatural type) ชื่อที่ตั้งต้องมีการตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือหรือวารสาร ชื่อที่ตั้งใหม่นั้นจะต้องไม่ซ้ำกับชื่อที่มีการตั้งไว้ก่อนแล้ว เป็นต้น

➽ ชนิด (species) 

          ชนิด คือ ลำดับพื้นฐาน ที่ใช้ในการจัดหรือจำแนกสิ่งมีชีวิตออกเป็นหมวดหมู่ และเป็นสิ่งที่พบได้ในธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะร่วมกันดังนี้จะจัดว่าเป็นชนิดเดียวกัน
1. มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางบรรพบุรุษ (มีกลุ่มยีน gene pool ของประชากรมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน)
2. สามารถผสมพันธุ์กันได้และลูกที่ได้ไม่เป็นหมัน
3. มีโครงสร้างของอวัยวะและหน้าที่เหมือนกัน
4. ส่วนมากมีโครโมโซมเท่ากัน
         นอกจากนี้ถ้าสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง มีกลุ่มประชากรหนึ่งหรือหลายกลุ่มในสิ่งมีชีวิตชนิดนั้น มีลักษณะที่แตกต่างเห็นชัดและคงที่ไปตลอด อาจจัดลำดับชนิดให้ย่อยและเล็กลงไปอีกได้ ลำดับที่ต่ำกว่าชนิดมีดังนี้ subspecies, variety และ forma
สิ่งมีชีวิตหลายๆชนิดที่มีความคล้ายคลึงกัน จะถูกจัดรวมกันไว้ในสกุล (genus) เดียวกัน สิ่งมีชีวิตหลายๆสกุลที่มีความคล้ายคลึงกัน จะถูกจัดรวมกันไว้ในวงศ์ (family) เดียวกัน เป็นอย่างนี้เรื่อยไปจนถึงลำดับอาณาจักร (kingdom) ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้เราสามารถศึกษาพืชแต่ละชนิด แต่ละกลุ่มได้ละเอียดยิ่งขึ้น เช่น พืชสกุลชา วงศ์ Theaceae เดิมนั้นมีการจัดจำแนกระดับสกุล ให้อยู่ในสกุล 2 สกุล คือ สกุล Camellia L. และ สกุล Thea L. จากการศึกษาเพิ่มเติม ทำให้ได้ข้อสรุปว่า พืชที่เป็นสมาชิกของทั้งสองสกุลนั้น ไม่มีความแตกต่างกันถึงระดับที่จะจัดจำแนกให้เป็นแต่ละสกุล จึงมีการรวมทั้งสองสกุลเข้าไว้เป็นสกุลเดียวกัน คือสกุล Camellia L. และแบ่งพืชสกุลชา ออกเป็น 2 สกุลย่อย (subgenus) ต้นสัก (Tectona grandis L.f.) แต่เดิม นักพฤกษศาสตร์ จัดให้เป็นสมาชิกของวงศ์ Verbenaceae จากข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติม ใน
       ปัจจุบัน พบว่าต้นสัก นั้นมีความสัมพันธ์ใกล้เคียงกับพืชในวงศ์กะเพรา (Lamiaceae, Labiatae) มากกว่า ทำให้มีการจัดจำแนกใหม่ ให้ต้นสัก เป็นสมาชิกของวงศ์ Lamiaceae แทน เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการศึกษาทางอนุกรมวิธานนั้น มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตามข้อมูลและหลักฐานที่มีมากขึ้น เพื่อให้เราสามารถเข้าใจและมีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาความหลากหลายของพืชในโลก และเพื่อนำความรู้เหล่านี้มาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ


ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ของตกแต่งบล็อกน่ารักๆ

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม
http://www.royin.go.th/wp-content/uploads/2015/03/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B8%8A-%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%A3-%E0%B8%81-1-272.pdf

http://www.dnp.go.th/botany/BFC/taxonomy.html

http://www.baw.in.th/sub/sci/151010101/webcontent/main.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น